Thursday, August 29, 2013

8th Birthday


เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก วันนี้ร้านเม็ดยาดำเนินกิจการมาครบรอบเป็นปีที่ 8 แล้ว ต้องขอขอบพระคุณลูกค้าทุกท่านที่ให้การสนับสนุนร้านยาเล็กๆ ร้านนี้มาด้วยดีตลอด ขอขอบคุณที่ให้ร้านเม็ดยาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นจุดนัดพบของคนที่หากันไม่เจอ เป็นที่ปรึกษาเวลาที่ใช้ smartphone หรือคอมพิวเตอร์ไม่ได้ เป็นที่ปรึกษาว่าจะซื้อกล้องวงจรปิดที่ไหน ซื้อโปรแกรมยิงบาร์โค๊ดยังไง เป็นที่ปรึกษาว่าจะให้ลูกเรียนที่ไหนดี ให้ช่วยเขียนภาษาอังกฤษ หรือมีบ้างที่ให้ช่วยอ่านภาษาไทย (ลูกค้าต่างชาติ) เป็นที่แวะที่พักที่บ่นที่พูดที่คุยเวลาขายดีขายไม่ดี

ทางร้านยินดีเสมอที่ทุกท่านให้ความไว้วางใจให้เราได้เป็นมากกว่า...."ร้านขายยา"
ขอบคุณค่ะ

Sunday, October 14, 2012

Cost-effective กับการรักษาพยาบาล


ณ ร้านยาร้านเดิม
ป้าสมศรี (นามสมมติ) : เป็นไข้ ปวดตัว เจ็บคอ มีแบบเม็ดเดียวหายไหม ไปซื้อร้านนู้นมากินหลายชุดแล้วไม่หาย 
เภสัชกร : นี่ค่ะ ห้าบาทค่ะ 
ป้าสมศรี : ห๊าาาา เม็ดเดียวเนี่ยนะห้าบาท ร้านนู่นห้าบาทมีตั้ง 4-5 เม็ด

สองสามวันผ่านไปป้าสมศรีกลับมาอีกครั้ง

ป้าสมศรี : ยาร้านนี้ดีจริงๆ เลย กินเม็ดเดียวหายเลย แต่ต้องยอมรับว่ายาเค้าแพงจริงๆ 
เภสัชกร : คุณป้าทานยาชุดหลายๆ ชุดรวมกันแล้วคุณป้าต้องจ่ายมากกว่า  5 บาทเยอะเลยนะคะ ทานเม็ดเดียวหาย ยาร้านหนูก็ต้องถูกกว่าซิค่ะ 
ป้าสมศรี : ไม่รู้หล่ะ ชั้นว่าร้านเธอแพง!!


อะไรถูกอะไรแพงกันแน่?

Cost - effective หมายถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล การใช้ยาก็เหมือนกันต้องคำนึงว่าจะใช้อย่างไรให้การรักษาได้ผลสูงที่สุดโดยให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

ตัวอย่างของป้าสมศรีที่คิดว่ายาชุดที่มีหลายๆ เม็ดราคาถูกกว่ายา 1 เม็ดที่เภสัชกรจ่ายให้มากนั้น ป้าสมศรีอาจจะถูก ถ้าความถูกแพงนั้นวัดกันด้วยปริมาณ แต่ถ้าในด้านความคุ้มค่ายาเพียงเม็ดเดียวที่เภสัชกรจ่ายไปให้นั้นถูกกว่ามาก เพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาครั้งนี้ของเภสัชกรเท่ากับห้าบาทเท่านั้นเอง

ส่วนยาชุดที่คุณป้าสมศรีได้รับมา นอกจากจะรักษาจะไม่หายแล้ว ยังอาจทำให้ได้รับยาที่เกินความจำเป็นอีกด้วย ดังนั้นเมื่อต้องการที่จะซื้อยารับประทานเองควรทานยาตามอาการมากกว่าที่จะทานยาเป็นชุดๆ ที่จัดสำเร็จไว้แล้ว

นอกจากที่ต้องดูเรื่องความคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เสียไปแล้ว ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย เช่น การทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เข้าไป 2 ชนิดเพื่อหวังเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา (พบมากในยาชุด) แต่ในความเป็นจริงแล้วนอกจากจะไม่เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษายังทำให้ผลข้างเคียงมากขึ้นด้วย

หรือตัวอย่างที่มักจะเจอกันบ่อยๆ ผู้ป่วยที่เป็นโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดัน มักจะถามว่ากินยาพวกนี้นานๆ ไม่มีผลต่อตับไตเหรอ ก็ต้องอธิบายว่าการทานยาในระยะยาวแล้วต่างมีผลต่อตับไตอยู่แล้ว แต่เมื่อเทียบกับการไม่ทานยาเป็นต่อเนื่องจะให้ผลเสียมากกว่าที่จะกังวลเรื่องตับไตนะค่ะ

แต่สิ่งที่คุ้มค่าที่สุด คือ การดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ทานอาหารให้เป็นประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สุขภาพแข็งแรง จิตใจแจ่มใส เท่านี้ก็คุ้มสุดคุ้มแล้วค่ะ

Thursday, September 13, 2012

เมื่อวันที่เธอไม่อยู่

สมมติว่าคุณลุงดันดี กำลังเดินซื้อของอยู่ในห้าง แล้วนึกขึ้นมาได้ว่ายาลดความดันของตัวเองหมด แล้วพรุ่งนี้คุณลุงดันดีต้องเดินทางไปต่างประเทศซะด้วย ขณะนั้นก็เป็นเวลาเกือบสามทุ่มแล้ว คุณลุงตัดสินใจเข้าร้านยาชื่อดัง

"สวัสดีครับ ผมต้องการยา...."
เสียงตอบรับจากพนักงานสาวดังว่า "ตอนนี้จำหน่ายยาให้ไม่ได้ค่ะ เภสัชกรไม่อยู่"
"แต่ยาตัวนี้ผมกินประจำนะครับ"
"เป็นนโยบายของทางร้าน จำหน่ายให้ไม่ได้จริงๆ ค่ะ" พนักงานกล่าวสีหน้าเรียบเฉย

คุณลุงดันดีจำต้องเดินออกไป แล้วจะทำยังไงดีเนี่ย ร้านยาข้างนอกก็คงปิดแล้ว พรุ่งนี้ก็ต้องเดินทางแต่เช้า ของก็ยังซื้อไม่ครบ ทันใดนั้นก็เหลือบไปเห็นร้านยาเชนดังอีกร้าน

เมื่อเดินเข้าไปถึงเคาน์เตอร์ขายยา มีป้ายติดตัวเป้งเลยว่า --ขณะนี้เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติการ--

เอาอีกแล้วเหรอนี่ แล้วพรุ่งนี้จะมียากินหรือเปล่า หมอสั่งให้กินทุกวันด้วยซิ

"สวัสดีครับ ผมต้องการยา... ตัวนั้นอะครับ" คุณลุงบอกพร้อมช่วยพนักงานหาว่ายาตัวนั้นอยู่ที่ไหน
"นี่ค่ะ จ่ายเงินที่แคชเชียร์ด้านหน้าเลยค่ะ"

คุณคิดว่าร้านยาร้านไหนทำถูก???

คงตอบกันว่าทำไม่ถูกทั้ง 2 ร้าน จริงค่ะ เวลาปฏิบัติการเภสัชกรควรอยู่ประจำตลอดเวลา แต่เภสัชกรก็เป็นคน ต้องกิน ต้องเข้าห้องน้ำ ก็ต้องมีช่วงเวลาไม่อยู่ที่เคาน์เตอร์บ้าง

     ร้านที่หนึ่ง มีนโยบายที่ค่อนข้างเข้มแข็งที่จะยกระดับร้านยาโดนการจ่ายยาทุกครั้งต้องจ่ายโดยเภสัชกร แต่โดยส่วนตัวคิดว่าร้านยาแห่งที่สองทำได้ดีกว่า เนื่องจากทางร้านมีป้ายประกาศชัดเจนว่าเภสัชกรไม่ได้อยู่ปฏิบัติการ ถ้ามีการจำหน่ายยาออกไปเภสัชกรคนนั้นไม่ได้รับผิดชอบนะคะ

     คุณลุงควรมีสิทธิในการเลือกที่จะดูแลตัวเอง เพราะคุณลุงรับทราบแล้วว่าเภสัชกรไม่อยู่ แต่คุณลุงเลือกที่รับความเสี่ยงที่จะได้รับยาจากบุคคลที่ไม่ใช่เภสัชกร เพราะคิดคำนวนแล้วมั่นใจว่าเป็นยาที่ใช้ประจำ และการไม่มียาจะเกิดผลเสียกับตัวเองมากกว่า คุณลุงจึงตัดสินใจซื้อได้

ก็คล้ายกับการประกันชีวิตระหว่างเดินทาง ลูกค้าก็เลือกได้เหมือนกันว่าจะซื้อประกันหรือไม่ แต่เราเตือนคุณแล้วนะ

หรือคุณคิดว่ายังไง?




Saturday, September 1, 2012

สักวาเภสัช

สักวาเป็นเภสัชลำบากนัก
ต้องรู้จักตัวยานับหมื่นแสน
ทั้งยาเก่ายาใหม่ยาทดแทน
ไม่ให้ใครดูแคลนสถาบัน

วิตามินอาหารเสริมก็ต้องรู้
ต้องเชิดชูสมุนไพรดีหนักหนา
ต้อง update โรคใหม่ตลอดเวลา
เวชสำอางค์ของแต่งหน้าต้องขายเป็น

รับปรึกษาเรื่องลูก internet
ใช้ tablet ไม่เป็นก็ถามได้
เรื่องมือถือ, facebook, shop online
ไม่ต้องไกลเข้าไปถามที่ร้านยา

ไปหาหมอจ่ายสองพันไม่เคยว่า
มาร้านยาถามห้าบาทลดได้ไหม
จ่ายยาให้ครบ dose บอกเยอะไป
ขอได้ไหมกินวันนี้แค่วันเดียว

ร้านขายยาก็แค่พออยู่ได้
ไม่ได้มีมากมายอย่างที่ฝัน
ขอร้องเถิดท่านทั้งหลายอย่ากดดัน
มิฉะนั้นอาจได้เห็น "พม่า" ขายยา เอย

Wednesday, August 29, 2012

7th anniversary


วันที่ 29 สิงหาคม 2005 ร้านเม็ดยาได้ถือกำเนิดขึ้น จนวันนี้ก็ย่างเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว ถ้าเทียบกับคน... จากวันแรกที่เปิดร้าน ค่อยๆ คลานเตาะแตะ จนสามารถยืนได้ด้วยตนเอง อายุ 7 ขวบถ้าจะเทียบก็คงได้เวลาที่เข้าสู่วัยเรียนกันแล้ว หกปีที่ผ่านมาก็เหมือนกับแค่เรียนชั้นอนุบาลเท่านั้น คงถึงเวลาที่จะได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ร้านยาเองก็เหมือนกันนอกเหนือจากการทำหน้าที่เภสัชกรให้ดีที่สุด เรายังต้องพัฒนาตัวเองต่อไป เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

ก้าวที่แปดของร้านเม็ดยา จะเน้นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ยาให้มากขึ้น ผ่านทาง medyabobae.blogspot.com เนื่องจากยังมีความเข้าใจที่ผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและการใช้ยาอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เข้าถึงข่าวสารได้อย่างง่ายดาย ข้อมูลมีมาก แต่การคิดวิเคราะห์และกรองข้อมูลนั้นมีน้อย จึงหวังว่า blog เล็กๆ นี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพได้มากขึ้น

สุดท้ายขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนับสนุนร้านเม็ดยาค่ะ


Tuesday, February 28, 2012

ยาก็มีแบรนด์เนม

หลังจากเหตุการณ์น้ำ้ท่วมใหญ่ อุตสาหกรรมยาก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้อุตสาหกรรมอื่น โรงงานยาหลายโรงถูกน้ำท่วมจนขณะนี้ก็ยังไม่สามารถผลิตยาได้ ตอนนี้ยาหลายๆ ชนิดขาดตลาดมาก สังเกตง่ายๆ ยาที่หลายคนรู้จักกันดี "ไทลินอล" ตอนนี้หาซื้อยากไม่แพ้กับน้ำเปล่าตอนช่วงน้ำท่วมเลย เวลาไปซื้อมักจะได้ยินเภสัชกรแนะนำว่า "รับตัวอื่นแทนได้ไหมค่ะ ตัวยาเหมือนกันแค่คนละยี่ห้อ" หลายคนก็ซื้อ หลายคนก็ไม่แน่ใจ และมีอีกหลายคนที่รับยาไปทานแล้วรู้สึกว่า "มันไม่ใช่อ่ะ ติ๋ม ตัวนี้กินแล้วไม่หายสู้ตัวเก่าไม่ได้"


ตกลงมันเหมือนหรือไม่เหมือนกันแน่??



ยา Original คือ ยาต้นแบบ ที่่มีการวิจัย ทดลองกันมาอย่างยาวนานกว่าจะนำออกมาสู่ตลาดได้ ส่วนใหญ่ยังเป็นยาที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งจะได้รับสิทธิบัตรยา (ห้ามเลียนแบบ) เป็นระยะเวลาประมาณนึง และเมื่อหมดสิทธิบัตรแล้ว ก็ถึงเวลา "เลียนแบบ" ซึ่งตรงนี้ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น เนื่องจากราคาต่างกันมากพอสมควร ทำให้เกิด generic drug หรือ local made มากมายหลายยี่ห้อ แต่ไม่ใช่นึกอยากจะทำก็ทำอออกมากันได้ง่ายๆ ต้องผ่านการตรวจสอบ "bioequivalent" คือ การศึกษาเปรียบเทียบกับ ยา Original แล้วว่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งปริมาณตัวยาสำคัญ การออกฤทธิ์ยา ปริมาณยาสูงสุดในกระแสเลือด ฯลฯ จากองค์การอาหารและยาก่อนที่จะนำมาสู่ตลาดได้


ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่า ไทลินอล, ซาร่า, มายพารา, พาราแคบ และอีกหลายร้อยยี่ห้อ ทั้งหมด คือ ยาพาราเซตามอล เหมือนกันหมด ออกฤทธิ์เหมือนกัน สามารถใช้ทดแทนกันได้

วิธีสังเกต ตัวอักษรพิมพ์ตัวใหญ่ๆ  คือ ชื่อการค้า
และจะมีตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวเล็กๆ ด้านล่าง นั่นคือ ชื่อยาสามัญ 
เช่น ยา Tylenol (ไทลินอล) มีชื่อยาสามัญว่า Paracetamol (พาราเซตามอล)


เราควรรู้ชื่อยาสามัญไว้ด้วย เผื่อร้านขายยาที่เราไปซื้อไม่มียายี่ห้อเดียวกับที่เราทานอยู่ เภสัชกรจะได้นำยายี่ห้ออื่นมาทดแทนกันได้ค่ะ



Sunday, September 25, 2011

ยา...กับเทศกาลกินเจ

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก พอได้เวลาน้ำหลาก เทศกาลกินเจก็มาถึง เทศกาลกินเจ คือ เทศกาลของคนไทยเชื้อสายจีน ที่จะละเว้นการทานเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์เป็นเวลา 10 วัน สมัยนี้อาหารเจหาทานกันได้ทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่ในร้านอาหารดังๆ ในห้างสรรพสินค้า หน้าตาอาหารที่ออกมาบ้างครั้งก็แยกไปไม่ออกด้วยซ้ำว่าเจหรือไม่เจ เวลาไปร้านอาหารที่ขายอาหารเจปนกับอาหารทั่วไป (ชอ) ประโยคที่เราพูดเป็นประจำก็คือ

นี่เจป่ะ?

ทำให้นึกถึงเรื่องตอนที่ฝึกงานอยู่ที่ร้านยาของมหาลัยแห่งนึง ในช่วงเทศกาลกินเจแบบนี้แหละ เมื่อจ่ายยาให้อาม่าคนนึงเรียบร้อย อาม่าเดินไปแล้วเหมือนนึกอะไรขึ้นมาได้สักอย่าง หันหลังกลับมาถามทันทีว่า "ยานี่เจป่ะ?" เรานี่ได้แต่ยืนอ้าปากค้างตอบไม่ถูกกันเลยทีเดียว

พอตกเย็นเลยมาเล่าให้อาจารย์ที่คุมฝึกงานฟัง คำตอบที่ออกมายิ่งทำให้เหวอเข้าไปใหญ่ "ยานี่...บางอย่างก็ไม่เจนะ!" อาจารย์อธิบายให้ฟังว่าอย่างบางอย่าง เช่น ที่บรรจุในแคปซูลไม่เจ เพราะแคปซูลบางยี่ห้อผลิตจากวัวหรือหมู หรืออาหารเสริมบางอย่างก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ เช่น น้ำมันปลา คอลลาเจนจากปลาทะเล กระดูกอ่อนปลาฉลาม

เอามาเล่าให้ฟังเป็นเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ หวังว่าคงไม่มีใครหยุดทานยาเพราะมันไม่เจนะค่ะ ทานยาเพื่อรักษาหรือป้องกันโรค คงไม่ถือว่า "เจแตก" หรอกค่ะ