Sunday, October 14, 2012

Cost-effective กับการรักษาพยาบาล


ณ ร้านยาร้านเดิม
ป้าสมศรี (นามสมมติ) : เป็นไข้ ปวดตัว เจ็บคอ มีแบบเม็ดเดียวหายไหม ไปซื้อร้านนู้นมากินหลายชุดแล้วไม่หาย 
เภสัชกร : นี่ค่ะ ห้าบาทค่ะ 
ป้าสมศรี : ห๊าาาา เม็ดเดียวเนี่ยนะห้าบาท ร้านนู่นห้าบาทมีตั้ง 4-5 เม็ด

สองสามวันผ่านไปป้าสมศรีกลับมาอีกครั้ง

ป้าสมศรี : ยาร้านนี้ดีจริงๆ เลย กินเม็ดเดียวหายเลย แต่ต้องยอมรับว่ายาเค้าแพงจริงๆ 
เภสัชกร : คุณป้าทานยาชุดหลายๆ ชุดรวมกันแล้วคุณป้าต้องจ่ายมากกว่า  5 บาทเยอะเลยนะคะ ทานเม็ดเดียวหาย ยาร้านหนูก็ต้องถูกกว่าซิค่ะ 
ป้าสมศรี : ไม่รู้หล่ะ ชั้นว่าร้านเธอแพง!!


อะไรถูกอะไรแพงกันแน่?

Cost - effective หมายถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล การใช้ยาก็เหมือนกันต้องคำนึงว่าจะใช้อย่างไรให้การรักษาได้ผลสูงที่สุดโดยให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

ตัวอย่างของป้าสมศรีที่คิดว่ายาชุดที่มีหลายๆ เม็ดราคาถูกกว่ายา 1 เม็ดที่เภสัชกรจ่ายให้มากนั้น ป้าสมศรีอาจจะถูก ถ้าความถูกแพงนั้นวัดกันด้วยปริมาณ แต่ถ้าในด้านความคุ้มค่ายาเพียงเม็ดเดียวที่เภสัชกรจ่ายไปให้นั้นถูกกว่ามาก เพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาครั้งนี้ของเภสัชกรเท่ากับห้าบาทเท่านั้นเอง

ส่วนยาชุดที่คุณป้าสมศรีได้รับมา นอกจากจะรักษาจะไม่หายแล้ว ยังอาจทำให้ได้รับยาที่เกินความจำเป็นอีกด้วย ดังนั้นเมื่อต้องการที่จะซื้อยารับประทานเองควรทานยาตามอาการมากกว่าที่จะทานยาเป็นชุดๆ ที่จัดสำเร็จไว้แล้ว

นอกจากที่ต้องดูเรื่องความคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เสียไปแล้ว ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย เช่น การทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เข้าไป 2 ชนิดเพื่อหวังเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา (พบมากในยาชุด) แต่ในความเป็นจริงแล้วนอกจากจะไม่เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษายังทำให้ผลข้างเคียงมากขึ้นด้วย

หรือตัวอย่างที่มักจะเจอกันบ่อยๆ ผู้ป่วยที่เป็นโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดัน มักจะถามว่ากินยาพวกนี้นานๆ ไม่มีผลต่อตับไตเหรอ ก็ต้องอธิบายว่าการทานยาในระยะยาวแล้วต่างมีผลต่อตับไตอยู่แล้ว แต่เมื่อเทียบกับการไม่ทานยาเป็นต่อเนื่องจะให้ผลเสียมากกว่าที่จะกังวลเรื่องตับไตนะค่ะ

แต่สิ่งที่คุ้มค่าที่สุด คือ การดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ทานอาหารให้เป็นประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สุขภาพแข็งแรง จิตใจแจ่มใส เท่านี้ก็คุ้มสุดคุ้มแล้วค่ะ